โครงการ ๑๐ ปี คิลานธรรม “คุณค่าแห่งการดำรงอยู่และการจากลา : สู่วิถีคิลานธรรม”
๑. ชื่อโครงการ

๑๐ ปี คิลานธรรม “คุณค่าแห่งการดำรงอยู่และการจากลา : สู่วิถีคิลานธรรม”


๒. หลักการและเหตุผล

กลุ่มอาสาคิลานธรรม คือการรวมตัวกันของกลุ่มพระสงฆ์ที่มีความปรารถนาช่วยเหลือดูแลจิตใจเพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบความทุกข์ใจ ด้วยระลึกถึงว่าครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอาวาสิกธรรม ๕ แก่พระภิกษุสงฆ์มีข้อหนึ่งที่ทรงกล่าวว่า “คิลานสตุปฺปาทก : เมื่อคฤหัสถ์เจ็บไข้ ไปเยี่ยมให้สติ” (องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๒๓๕/๒๙๒) แม้พระองค์เองก็เสด็จไปเยี่ยมพุทธบริษัทที่กำลังเจ็บไข้และมีความทุกข์เช่นกัน อาทิ พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระบรมราชบิดา นกุลบิดาอุบาสก เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติที่กำลังเผชิญกับความทุกข์เป็นกิจอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ที่พึงปฏิบัติ เพราะทรงคุณประโยชน์ทั้งในระดับบุคคล ระดับสังคม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมงานด้านการเผยแผ่พุทธธรรมในยุคปัจจุบันให้ทรงคุณค่ายิ่งขึ้นอีกด้วย กลุ่มอาสาคิลานธรรมได้รับโอกาสให้เข้าไปดูแลจิตใจผู้ป่วยในโรงพยาบาล พร้อมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกล่าวคือ ญาติมิตรของผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา ด้วยกระบวนการปรึกษาแนวพุทธ ซึ่งประยุกต์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ร่วมกันกับการให้การปรึกษาทางจิตวิทยา อันมีส่วนช่วยให้เขาเหล่านั้นได้บรรเทาคลายจากความทุกข์ภายในจิตใจ ทั้งยังได้เห็นคุณค่าในการดำรงอยู่ของตนเองและผู้อื่น แม้เพียงชั่วขณะสุดท้ายของชีวิตด้วย ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา กลุ่มอาสาคิลานธรรม ไม่เพียงแต่ทำงานด้านการเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ดูแลจิตใจผู้ป่วยและบุคคลที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังได้ดูแลพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ นักเรียนนักศึกษา ผู้พลัดพรากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และสมาชิกภายในกลุ่มอาสาคิลานธรรมในด้านทักษะ หลักพุทธธรรม และความรู้ทางวิชาการต่างๆ อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลอยู่เนืองๆ เช่น อบรมจริยธรรมแก่พยาบาลวิชาชีพ นักศึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ นักศึกษาพยาบาล กิจกรรมภาวนาเพื่ออุทิศกุศลแด่ผู้ล่วงลับอันเป็นที่รัก ฯลฯ ด้วยคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการทำงานของกลุ่มอาสาคิลานธรรมนี้เอง จึงเป็นเหตุให้คณะสงฆ์เห็นความสำคัญและได้มอบหมายให้จัดการฝึกอบรมการดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติแก่คณะพระสงฆ์ในเขตกรุงเทพมหานคร และขยายสู่คณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาคที่มีความสนใจในชื่อ โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการบทบาทพระสงฆ์ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติ “เยียวยาใจด้วยธรรมะ” ซึ่งปัจจุบันดำเนินการมาเป็นรุ่นที่ ๓ แล้ว อีกทั้งยังได้แบ่งปันเผยแพร่องค์ความรู้อันมีคุณค่าจากประสบการณ์ที่ได้รับมาสู่สังคม ผ่านสื่อ และเวทีเสวนาต่างๆ อีกมากมาย ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีแห่งการดำรงอยู่ของกลุ่มอาสาคิลานธรรมนี้ ทางกลุ่มมีความปรารถนาที่จะเผยแพร่วิถีปฏิบัติของกลุ่มอาสาคิลานธรรม หรือ วิถีคิลานธรรม วิถีแห่งความดับทุกข์ ความรักผู้อื่น ความเสียสละเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งได้สั่งสมผ่านประสบการณ์มายาวนาน มานำเสนอสู่สังคม ผ่านสื่อนิทรรศการ เวทีเสวนาอภิิปราย และกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการภาวนา เพื่อสร้างสรรค์และแบ่งปันความงอกงามสู่สังคม ภายใต้แนวความคิด“คุณค่าแห่งการดำรงอยู่และการจากลา : สู่วิถีคิลานธรรม” อันเป็นจุดมุ่งหมายของโครงการนี้


๓. วัตถุประสงค์
๓.๑ เพื่อสื่อสารวิถีคิลานธรรมสู่สังคมไทย
๓.๒ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งการดูแลจิตใจเพื่อนมนุษย์
๓.๓ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมแห่งการดูแลจิตใจเพื่อนมนุษย์

๔. กลุ่มเป้าหมายหลัก
๔.๑ เชิงปริมาณ ได้แก่ กลุ่มหรือองค์กรจิตอาสาที่ทำงานด้านการดูแลจิตใจเพื่อนมนุษย์ พระสงฆ์ นักบวช ตลอดจนประชาชนทั่วไป
๔.๒ เชิงคุณภาพ ได้แก่ ผู้เข้าร่วมงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ เข้าใจเข้าถึงวิถีปฏิบัติของ กลุ่มอาสาคิลานธรรม

๕. ผู้รับผิดชอบโครงการ
กลุ่มอาสาคิลานธรรม นำโดย
พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ
ประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม
โทรศัพท์ ๐๘๙-๓๖๑-๙๔๕๑
E-mail : boonpa50@gmail.com

พระครูศรีวิรุฬหกิจ (วสันต์ ฐานวโร)
รองประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม
โทรศัพท์ ๐๙๒-๓๔๘-๐๑๐๑
E-mail : wasan_35@hotmail.com

๖. รูปแบบกิจกรรม
๖.๑ นิทรรศการ
หัวข้อ ๑๐ ปี คิลานธรรม “คุณค่าแห่งการดำรงอยู่และการจากลา : สู่วิถีคิลานธรรม”
๖.๒ เวทีเสวนาและอภิปราย
หัวข้อ ๑๐ ปี คิลานธรรม “คุณค่าแห่งการดำรงอยู่และการจากลา : สู่วิถีคิลานธรรม”
๖.๓ กิจกรรมเชิงปฏิบัติการภาวนา

๗. ระยะเวลาดำเนินงาน

ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนจนถึงวันจัดแสดงและดำเนินกิจกรรม เป็นเวลาทั้งสิ้น ๕ เดือน


๘. กำหนดการจัดงาน

วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึง วันอังคารที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑



๙. สถานที่จัดงาน

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ถนนนิคมรถไฟสายสอง เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐


๑๐. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๑๐.๑ ผู้เข้าร่วมได้รู้จักผลงาน และวิถีปฏิบัติของกลุ่มอาสาคิลานธรรม
๑๐.๒ นวัตกรรมแห่งการดูแลจิตใจเพื่อนมนุษย์
๑๐.๓ เครือข่ายสังคมแห่งการดูแลจิตใจเพื่อนมนุษย์

© 2018 Copyright: กลุ่มอาสาคิลานธรรม